น้ำตาลเทียม หวานไม่จริง ยิ่งทำให้อ้วน ? : ประโยชน์-โทษของ sweetener

ภัคพงศ์ ภู่เจริญรักษ์

นักปฏิบัติการวิจัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศิษย์เก่า หลักสูตรปริญญาโทสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย

ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนได้เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการบริโภคเครื่องดื่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม ชานม ชาไข่มุก กาแฟ ต่าง ๆ ขณะที่ทุกคนกำลังเพลิดเพลินกับรสชาติและความสดชื่นจากความเย็นของเครื่องดื่ม หนึ่งสิ่งที่ได้รับเข้าด้วยคือ “น้ำตาล” ทำให้แนวโน้มการบริโภคน้ำตาลเกินความจำเป็นสูงขึ้นและส่งผลต่อสุขภาพ ผู้ประกอบการหลายเจ้าจึงหันมาใช้สารทดแทนความหวานเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค แต่สารทดแทนความหวานเหล่านี้นี้ปลอดภัยจริงหรือเราจะไปค้นหาคำตอบพร้อม ๆ กัน

สารทดแทนความหวาน (Sweetener) หรือ น้ำตาลเทียม เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อให้ความหวานและมีวัตถุประสงค์แอบแฝงคือการลดปริมาณแคลอรี่ โดยสารให้ความหวานแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามพลังงานที่ร่างกายได้รับ คือ สารให้ความหวานที่ให้พลังงาน ได้แก่พวกน้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohol) เช่น ซอร์บิทอล, แมนนิทอล, ไซลิทอล, ใบหญ้าหวาน (Stevia) เป็นต้น และ สารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงาน เช่น แอสพาแตม, อะซีซัลเฟมเค, ซูคราโลส, สตีวิโอไซด์  เป็นต้น โดยสารทดแทนความหวานกลุ่มหลังนี้เองที่นิยมนำมาใช้กับเครื่องดื่มเพิ่มลดพลังงานที่ได้รับจากเครื่องดื่มลง แม้ว่าสารทดแทนความหวานจะสามารถลดพลังงานที่ร่างกายได้รับลงได้ แต่ก็มีแพทย์และนักวิจัยบางส่วนที่ตั้งข้อสังเกตุว่าสารทดแทนความหวานเหล่านี้จะช่วยควบคุมน้ำหนักได้จริงหรือ? โดยจากการทบทวนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปี 2017 พบว่าการบริโภคสารทดแทนความหวานมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut microbiome) ส่งผลให้เกิดอิ่มช้า รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสมดุลการเผาผลาญน้ำตาล ซึ่งอาจนำไปสู่การบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นได้ 1 ขณะที่การทบทวนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปี 2021 พบว่าการสารทดแทนความหวานแต่ละชนิดมีกระบวนการเผาผลาญที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่อาจนำผลการศึกษาของสารทดแทนความหวานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาคาดคะเนแทนสารทดแทนความหวานทั้งหมดได้ รวมถึงการศึกษาในสัตว์ทดลองอาจไม่สามารถที่จะประเมินความเสี่ยงของสารทดแทนความหวานได้อย่างแน่ชัด โดยจากการศึกษาทางคลินิกในปัจจุบันส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันว่า สารทดแทนความหวานอาจจะไม่ได้มีผลต่อการลดหรือเพิ่มของน้ำหนักตัว แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาส่วนใหญ่มักมีระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งหากจะให้ผลการศึกษาชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็ควรที่จะมีการศึกษาระยะยาวเพิ่มเติมต่อไป 2

ดังนั้นในปัจจุบันยังไม่อาจที่จะสรุปได้อย่างชัดเจนว่าสารทดแทนความหวานมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวหรือไม่ แต่โดยความเห็นของผู้เขียนแล้วการใช้สารทดแทนความหวานอาจจะเป็นตัวช่วยหนึ่งในการควบคุมน้ำหนักหรือควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดในช่วงที่กำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค แต่ต้องพึงระลึกว่า การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ไม่ได้ช่วยลดภาวะการติดรสหวาน ผู้บริโภคยังคงต้องปรับการรับประทานให้มีความสมดุล และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

 

Reference

1 Pearlman M, Obert J, Casey L. The Association Between Artificial Sweeteners and Obesity. Curr Gastroenterol Rep. 2017

2 Pang MD, Goossens GH, Blaak EE. The Impact of Artificial Sweeteners on Body Weight Control and Glucose Homeostasis. Front Nutr. 2021