“มะเกี๋ยง” ผลไม้เมืองเหนือ ลดอักเสบ ชะลอเซลล์ประสาทเสื่อม ต้านแก่ในสัตว์ทดลอง

            ผศ.ดร.มลฤดี สุขประสารทรัพย์

                                                                                ตรวจทานแก้ไข: รศ.ดร.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม

ชื่อ “มะเกี๋ยง” คำว่า “มะ” หมายถึง ต้นไม้หรือผลไม้บางอย่าง คำว่า “เกี๋ยง” หมายถึง เดือนแรกของปีนับทางจันทรคติ เมื่อรวมกัน “มะเกี๋ยง” หมายถึง ต้นไม้หรือผลไม้ทางภาคเหนือที่น่าจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเดือนอ้ายของทางภาคเหนือ ในวัฒนธรรมล้านนา มีการบริโภคผลมะเกี๋ยงอย่างแพร่หลายทั้งเป็นผลไม้ และเป็นสมุนไพรรักษาโรค เช่น เปลือกและราก นำมาใช้รักษาโรคสันนิบาต (โรคพาร์กินสัน) เปลือกมาต้มกับน้ำใช้อมแก้/บรรเทาปากเปื่อย เจ็บคอ ส่วนผลสุกนำมากินเพื่อให้ชุ่มคอ [1]

“มะเกี๋ยง” เป็นพืชภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Cleistocalyx nervosum var. paniala อยู่ในวงศ์ Myrtaceae มีลักษณะเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่พบได้ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย อยู่ในกลุ่มผลไม้พวกตระกูลเบอร์รี่ ต้นมะเกี๋ยงจะออกผลผลิตช่วงฤดูฝน ผลสุกสามารถรับประทานได้ ผลมีขนาดเล็กรูปร่างกลมรี เนื้อน้อย รสชาติเปรี้ยวอมหวานและฝาดเล็กน้อย เมื่อสุกผลจะมีสีม่วงเข้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว (ดังภาพที่ 1 และ 2)

 

   ภาพที่1 ผลมะเกี๋ยงบนกิ่งต้นมะเกี๋ยง                                                    ภาพที่ 2 ผลมะเกี๋ยงสุกและผงแห้งของผลมะเกี๋ยงสุก

ที่มา: ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ และคณะ 2558 [1]                                       ที่มา: มลฤดี สุขประสารทรัพย์ และคณะ [2]

              ผศ.ดร.มลฤดี สุขประสารทรัพย์ ศิษย์เก่า และ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโท สาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ [2,3,6] ทำการศึกษาวิจัยประโยชน์เชิงสุขภาพและสุขภาวะของผลมะเกี๋ยงสุก พบว่า ผลมะเกี๋ยงสุก เป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ มีความชื้นสูง  มีปริมาณน้ำตาลรวมต่ำ มีวิตามินซีสูง สารสีม่วงเข้มที่พบในผลมะเกี๋ยงสุกเป็นสารในกลุ่มของแอนโทไซยานิน โดยเฉพาะไซยานิดิน-3-กลูโคไซด์ (C3G) และยังพบสารเรสเวอราทรอล เคอร์ซิทิน กรดเฟอรูลิค ลูเตอิน และมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกสูง สารเหล่านี้เป็นสารสำคัญทางชีวภาพที่ออกฤทธิ์เสริมกันและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ/ต้านการอักเสบได้ดี ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ สารสกัดผลมะเกี๋ยงสุก พบว่ามีฤทธิ์ปกป้องการตายและช่วยยืดอายุของเซลล์ประสาทส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampal HT22 neuronal cells) ของหนูซึ่งเกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ผ่านกลไกของโปรตีนที่ยับยั้งการตายแบบ apoptosis และกลไกของโปรตีนและยีนที่กระตุ้นการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระและยืดอายุภายในเซลล์ประสาท ในขณะที่ไม่พบความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรม (DNA) ของเซลล์ประสาทส่วนฮิปโปแคมปัส (ดังภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 กลไกของสารสกัดผลมะเกี๋ยงสุกในการลดการตายและยืดอายุเซลล์ประสาทที่เกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้         

ที่มา: Cleistocalyx nervosum var. paniala berry promotes antioxidant response and suppresses glutamate-induced cell death via SIRT1/Nrf2 survival pathway in hippocampal HT22 neuronal cells. https://doi.org/10.3390/molecules27185813

นอกจากนี้ ในเรื่องของสายตา ผศ.ดร.มลฤดี และคณะ [7] ได้วิจัยพบว่า สารสกัดจากผลมะเกี๋ยงสุกและสารแอนโทไซยานินหลัก C3G มีศักยภาพออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีในเซลล์จอประสาทตามนุษย์อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เมล็ดมะเกี๋ยง ซึ่งจัดว่าเป็นของเหลือทิ้งจากการแปรรูปทางเกษตร (agricultural food waste) ผศ.ดร.มลฤดี และคณะ [8,9]  ได้นำมาทำเป็นสารสกัดเมล็ดมะเกี๋ยงเพื่อวิจัยค้นคว้าต่อในเซลล์ภูมิคุ้มกันของระบบประสาท (innate immune cells of the nervous system) ซึ่งเป็นชนิดของเซลล์ภูมิคุ้มกันด่านแรกของระบบประสาท ศึกษาโดยใช้เซลล์ประสาทคำจุ้น (microglial BV2 cells) ของหนู ผลการศึกษา พบว่า สารสกัดเมล็ดมะเกี๋ยงสามารถยับยั้งการอักเสบของระบบประสาทได้ดีมาก ผ่านกลไกการทำงานของโปรตีนและยีนสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ดังนั้น ผลไม้นี้อาจถูกนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกจากธรรมชาติเพื่อป้องกันการเกิดภาวะจอประสาทตาเสื่อม และภาวะสมองเสื่อมซึ่งสัมพันธ์กับการอักเสบต่อไปในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาฤทธิ์ต้านความชราของมะเกี๋ยงในสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ได้แก่ หนอนตัวกลม (Caenorhabditis elegans) ซึ่งมียีนในเซลล์สมองและยีนที่เกี่ยวข้องกับความชราเหมือนมนุษย์ ผศ.ดร.มลฤดี และคณะ [4,5] พบว่า สารสกัดจากผลมะเกี๋ยงสุกและเมล็ดมะเกี๋ยง สามารถลดความเครียดของเซลล์ และลดการสร้างสารไลโปฟูสชิน (lipofuscin) ที่เป็นรงควัตถุกลุ่มไขมันซึ่งตัวบ่งชี้ถึงภาวะชรา (age pigment) การที่ระดับของไลโปฟูสชินลดลงบ่งบอกถึงการลดความเสี่ยงต่อโรคที่พบบ่อยในวัยสูงอายุ นอกจากนี้ยังพบว่ามะเกี๋ยงช่วยให้หนอนตัวกลมมีสุขภาวะที่ดี และช่วยยืดอายุของหนอนให้ยืนยาวขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในหนอนสายพันธุ์ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อมและหนอนสายพันธุ์ปกติ

…….แถมท้าย…….ผลมะเกี๋ยงสุกไม่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์นะจ๊ะ!

โดยสรุปแล้ว การกินมะเกี๋ยงสุกสดๆ…ดีต่อสุขภาพ….ให้พลังงานต่ำ น้ำตาลน้อย วิตามินซีสูง งานวิจัยในห้องปฏิบัติการพบว่า สารสกัดจากผลและเมล็ดมะเกี๋ยงมีฤทธิ์ลดอักเสบ ชะลอความเสื่อม ลดการตายของเซลล์ประสาทส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้ ในอนาคตจะมีการศึกษาต่อในสัตว์ทดลองและมนุษย์ถึงผลในการป้องกันหรือชะลอโรคความเสื่อมของระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น

อ่านบทความวิจัยภาษาอังกฤษได้ที่

https://doi.org/10.1016/j.fct.2017.03.025

                                                                                                                               https://doi.org/10.3390/molecules27185813

https://doi.org/10.1016/j.heliyon.2022.e11869

เอกสารอ้างอิง

  1. ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ (บรรณาธิการ). (2558). มะเกี๋ยง พืชอนุรักษ์ อพ.สธ. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, อุตรดิตถ์. 202 หน้า.
  2. มลฤดี สุขประสารทรัพย์ และคณะ (2563) รายงานการวิจัย การปกป้องเซลล์ประสาทและกลไกระดับโมเลกุลของผลมะเกี๋ยง โดยผ่านวิถีการกระตุ้นการมีชีวิตอยู่รอดและยืดอายุของเซลล์ และการยับยั้งการตายแบบอะพ็อพโตซิส ภายใต้ภาวะ oxidative stress ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ.
  3. Monruedee Sukprasansap, Pithi Chanvorachote, Tewin Tencomnao. Cleistocalyx nervosum paniala berry fruit protects neurotoxicity against endoplasmic reticulum stress-induced apoptosis. Food and Chemical Toxicology. 2017; 103: 279-288. https://doi.org/10.1016/j.fct.2017.03.025
  4. Mani Iyer Prasanth, James M. Brimson, Siriporn Chuchawankul, Monruedee Sukprasansap, and Tewin Tencomnao. Anti-aging, stress resistance and neuroprotective efficacies of Cleistocalyx nervosum paniala fruit extracts using Caenorhabditis elegans model. Oxidative Medicine and Cellular Longevity. 2019; 7024785. https://doi.org/10.1155/2019/7024785
  5. James Michael Brimson, Mani Iyer Prasanth, Ciro Isidoro, Monruedee Sukprasansap, Tewin Tencomnao. Cleistocalyx nervosum paniala seed extracts exhibit sigma-1 antagonist sensitive neuroprotective effects in PC12 cells and protect C. elegans from stress via the SKN1/NRF-2 pathway. Nutrition and Healthy Aging. 2021; 6(2): 131-146. DOI: 10.3233/NHA-200108 https://content.iospress.com/articles/nutrition-and-healthy-aging/nha200108
  6. Wanchanok Nantacharoen, Seung Joon Baek, Waluga Plaingam, Somsri Charoenkiatkul, Tewin Tencomnao, Monruedee Sukprasansap. Cleistocalyx nervosum paniala berry promotes antioxidant response and suppresses glutamate-induced cell death via SIRT1/Nrf2 survival pathway in hippocampal HT22 neuronal cells. Molecules 2022; 27(18): 5813. https://doi.org/10.3390/molecules27185813
  7. Pranee Srimard, Chawanphat Muangnoi, Siriporn Tuntipopipat, Somsri Charoenkiatkul, Monruedee Sukprasansap. Cleistocalyx nervosum paniala fruit extract attenuates interleukin-1β-induced inflammation in human retinal pigment epithelial cells. Journal of Nutrition Association of Thailand 2022; 57(2): 18-31. https://he01.tci-thaijo.org/index.php/JNAT/article/view/259090
  8. Sakawrat Janpaijit, Pattawika Lertpatipanpong, Chanin Sillapachaiyaporn, Seung Joon Baek, Somsri Charoenkiatkul, Tewin Tencomnao, Monruedee Sukprasansap. Anti-neuroinflamma- tory effects of Cleistocalyx nervosum paniala berry-seed extract in BV-2 microglial cells via inhibition of MAPKs/NF-κB signaling pathway. Heliyon 2022; 8(11): e11869. https://doi.org/10.1016/j.heliyon.2022.e11869
  9. Sakawrat Janpaijit, Chanin Sillapachaiyaporn, Atsadang Theerasri, Somsri Charoenkiatkul, Monruedee Sukprasansap, Tewin Tencomnao. Cleistocalyx nervosum paniala Berry Seed Protects against TNF-α-Stimulated Neuroinflammation by Inducing HO-1 and Suppressing NF-κB Mechanism in BV-2 Microglial Cells. Molecules. 2023; 28(7):3057. https://doi.org/10.3390/molecules28073057