เหตุใดผลิตภัณฑ์จากกัญชาจึงกำหนดมาตรฐาน ระดับปลอดภัย (safe dose) ได้ยาก

นโยบายปลดล็อกกัญชาหรือกัญชาถูกกฎหมาย ทำให้ประชาชนสนใจและพยายามใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สันทนาการ และเพิ่มยอดขายในเชิงธุรกิจอย่างแพร่หลาย เช่น การใช้กัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศเพื่อให้มีแนวทางกำกับควบคุมและกำหนดมาตรฐานการใช้กัญชา แต่ยังพบกรณีผู้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภคกัญชาอยู่ เช่น อาการประสาทหลอน เคลิบเคลิ้มจนเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ตลอดจนปัญหาระยะยาวทางจิตประสาท สติปัญญา และเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งบางชนิด แนวทางสำคัญที่จะป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ได้คือ การกำหนดมาตรฐานระดับสูงสุดที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดมีการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวออกมา มีเพียงการกำหนดปริมาณที่อนุญาตให้ใส่ในอาหารได้ แต่ไม่ได้บอกว่า ในหนึ่งวันคนเราสามารถรับประทานได้สูงสุดไม่เกินเท่าใด

เพื่อจะหาคำตอบว่า เหตุใดผลิตภัณฑ์จากกัญชาจึงกำหนดมาตรฐานระดับปลอดภัย ได้ยาก อ.ดร.ศรัณยา กิจดำรงธรรม และ รศ.ดร.ทพญ. ดุลยพร ตราชูธรรม จากหลักสูตรปริญญาโทสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย (ภาคปกติและภาคพิเศษ) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้สืบค้นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ และพบว่า มูลเหตุที่แท้จริงนั้นมาจาก การตอบสนองต่อสารออกฤทธิ์ในกัญชา (CBD และ THC) ในแต่ละบุคคลคนนั้นต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ช่องทางการรับสัมผัส (แบบสูบ ร่างกายจะได้รับสารออกฤทธิ์ไวกว่า และปริมาณสูงกว่า แบบรับประทาน จึงอาจเกิดพิษไวกว่า แต่การรับประทานนั้น ผลดีหรือพิษจะอยู่นานกว่าสูบ) ระยะเวลา ความถี่ในการใช้ รูปแบบของผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่วิธีการใช้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านความต่างของตัวบุคคล เช่น อายุ เพศ ลักษณะความผันแปรของยีน (gene) ที่ใช้สร้างโปรตีนที่ทำปฏิกิริยากับสารออกฤทธิ์ในกัญชา หรือเอนไซม์ที่ใช้กำจัดสารพิษจากกัญชา ตลอดจนความแตกต่างในการทำสำเนายีนนั้น (epigenetic regulation) ของแต่ละบุคคล ด้วย

ดังภาพด้านล่างนี้ การตอบสนองต่อกัญชาของแต่ละบุคคลเป็นไปตามหลักการสองเฟสขึ้นกับระดับ (biphasic dose-dependent) หมายความว่า หากค่อย ๆ เริ่มต้นจากการใช้ปริมาณความเข้มข้นต่ำและไม่เกินช่วงปริมาณที่เหมาะสม (hermetic zone) จะทำให้เกิดการกระตุ้นหรือการตอบสนอง แต่หากปริมาณสูงเกินกว่าช่วง hermetic zone ไปจะทำให้เกิดการยับยั้ง ซึ่งแต่ละคนจะมีช่วง hermetic zone แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นปริมาณที่เห็นผลในบุคคลหนึ่งอาจจะเป็นปริมาณที่มากเกินไปจนก่อพิษสำหรับอีกบุคคลหนึ่งก็ได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ปริมาณของสารออกฤทธิ์ในกัญชาที่ให้ผลดีกับปริมาณที่ส่งผลเสียกับแต่ละคนนั้น ไม่เท่ากัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดระดับปลอดภัยมาตรฐานขึ้นมา เพราะหากกำหนดขึ้น หนึ่งคนอาจปลอดภัย แต่อีกคนอาจไม่ปลอดภัยก็ได้

ข้อมูลที่ได้รวบรวมมาชี้ให้เห็นว่า การจะหาระดับปลอดภัยเพื่อกำหนดมาตรฐานการใช้กัญชาเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยมากมายที่มีผลทำให้การตอบสนองต่อสารปริมาณเท่ากันต่างกัน จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินความเสี่ยงในการบริโภค ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย หากจำเป็นต้องใช้กัญชา ควรใช้หลักการ เริ่มต้นต่ำๆ ค่อยๆเพิ่มอย่างช้าๆ จนเกิดผลที่ต้องการ และคงระดับต่ำที่สุดไว้ (start low, go slow and stay low) ทั้งนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และ หญิงมีครรภ์ ไม่ควรรับประทาน ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

อ้างอิง:  Kitdumrongthum S, Trachootham D. An Individuality of Response to Cannabinoids: Challenges in Safety and Efficacy of Cannabis Products. Molecules 2023, 28, 2791.   

อ่านบทความฉบับเต็มที่ https://doi.org/10.3390/molecules28062791